วันพุธที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ประวัติการสร้างกำแพงเมืองจีน        เมื่อพระเจ้า ฉินซีฮ่องเต้ ทรงรวบรวม 6 เมืองรัฐเอกเอกเทศแล้ว และเพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศชาติ พ.ศ. 529 พระองค์ทรงใช้ขุนพล ม่งเถียน (ม่งเที้ยม) ยกกองทัพใหญ่สามสิบหมื่น ไปปราบปรามชนเผ่ากลุ่มน้อยนอกแผ่นดินใหญ่ ชนเผ่า ซงหนู แล้วพระองค์ก็ทรงมีพระราชโองการโปรดให้จัดซ่อมสร้างกำแพงใหญ่เก่าของเมืองรัฐ เยี่ยน (อี่), เมืองรัฐ จ้าว (เตียว), และเมืองรัฐ ฉิน (ชิ้ง) ขึ้นมาใหม่ เป็นการซ่อมสร้างให้กำแพงใหญ่เมืองเก่าทั้งสามได้เชื่อมติดต่อกัน กำแพงใหญ่มโหฬารนี้ทางทิศตะวันตกเริ่มแต่เมือง หนินเทา (นิ่มเชี้ยว) ในมณฑล กันซู ทางทิศตะวันออกตลอดทอดแนวยาวถึงมณฑล เหลียวหนิน ตะวันออก มีความยาวประมาณ 5,000 ลี้ แต่นักประวัติศาสตร์ให้ชื่อว่า กำแพงหมื่นลี้ กำแพงหมื่นลี้คือสิ่งก่อสร้างอันยิ่งใหญ่และอัจฉริยะของคนจีนโบราณ ราชวงศ์ ฉิน ได้เกณฑ์คนงานหลายแสนคนไปร่วมกันซ่อมแซมก่อสร้าง กินเวลาก่อสร้างด้วยความทุกข์ยากลำบากอยู่หลายปี และสังเวยชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมาก จึ่งเป็นกำแพงเมืองจีนอันยิ่งใหญ่ได้  กำแพงหมื่นลี้อันยิ่งใหญ่ได้สร้างข้ามเนินเขาสูงใหญ่หลายสิบลูก ด้วยระดับความสูงใหญ่มิเท่ากัน มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,300 - 1,400 เมตร ระดับความสูงของตัวกำแพงเมืองนั้นตั้งแต่ 5 เมตรถึง 10 กว่าเมตรขึ้นไป เรียงรายตามระดับความสูงต่ำของภูเขาแต่ละลูก ระดับความสูงต่ำของตัวกำแพงเมืองจึ่งมิเท่ากัน ซึ่งล้วนแล้วแต่ละสถานที่ตั้งของตัวกำแพงเมือง     ภายนอกของตัวกำแพงเมืองได้ใช้ศิลาสกัดก่อตั้งเรียงรายกัน ส่วนภายในกำแพงเมืองนั้นได้ใช้ดินและหินปูนฉาบไว้เหนียวแน่น เบื้องบนของตัวกำแพงเมืองจีน ยังก่อสร้างด้วยกำแพงเหนือยอดอีกชั้น อีกทั้งมีกำแพงชั้นในซึ่งเจาะช่องเป็นช่อง ๆ มองออกไปทะลุถึงกำแพงเมืองชั้นนอกได้ แต่ละช่องนั้นห่างไกลกันช่องละ 130 เมตร และยังได้สร้างค่ายคูประตูหอรบขึ้นอีกชั้น เป็นที่สำหรับมองข้าศึกศัตรูและเป็นหอส่องจุดไฟสัญญาณ ตามสถานที่แต่ละแห่งเมื่อเห็นภัยร้ายเข้ามา ต่างสามารถจุดไฟส่งสัญญาณเตือนภัยกันล่วงหน้าได้ เพื่อประโยชน์การส่งกองทัพทหารเข้ามาปกป้องกันภัยจากข้าศึก ยามกลางวันนั้นจุดฟืนไฟส่งเป็นสัญญาณควัน ส่วนยามกลางคืนก็จุดฟืนไฟส่งสัญญาณเป็นแสงเพลิง      กำแพงเมืองจีนนั้นได้ถูกก่อสร้างขึ้นด้วยความยากเข็ญลำบากสาหัส มีบางแห่งตั้งอยู่ในทำแลท้องที่ที่คับขัน แต่ด้วยความวิริยะอุตสาหะของคนจีน กำแพงเมืองจีนจึ่งถูกสร้างขึ้นมาด้วยความยากเข็ญลำบาก เพียงเพื่อระวังป้องกันศัตรูจากภายนอกที่รุกรานเข้ามา และก็ใช้พื้นที่ทางธรรมชาติเป็นด่านป้องกันภัยอันตราย และเมื่อมองจากภายนอก จะรู้สึกว่าเป็นความยิ่งใหญ่อันน่าเกรงขามของคนจีนด้วยการขนวัสดุ ดิน, หิน, ศิลา, จำนวนมหาศาลขึ้นไปกองบนยอดเขา ก่อสร้างเป็นกำแพงเมืองจีน เป็นงานที่ลำบากและกินแรงงานของผู้คนจำนวนมากเป็นอย่างยิ่ง     ดั่งเช่น พ.ศ. 1098 สมัยราชวงศ์ เป่ยเจ้ (ปักเจ่) ฮ่องเต้ ทรงโปรดให้ก่อสร้างเพิ่มเติมตั้งแต่ด่าน กู่หยง (กูย้ง) ถึงเมือง ต้าถง (ไต่ตั่ง) นั้นกินกำแพงแนวยาวถึง 450 กิโลเมตร จำต้องใช้กำลังแรงคนถึง 1,800,000 คน ณ ที่ป้อม ปาต้าหลิน (โป๊ยตักเหล็ง) มีป้ายศิลาบันทึกการสร้างกำแพงเมืองเมื่อสมัยราชวงศ์ หมิน (เม้ง) ว่า เมื่อ พ.ศ.2125 มีการซ่อมตัวกำแพงยาวเพียง 70 กว่าจ้าน (ตึ๋ง) ต้องใช้เหล่าทหารและชาวบ้านหลายพันคน
       ดังนั้นจึ่งวาดภาพได้ว่า การก่อสร้างถาวรวัตถุของคนโบราณนั้น ใช้เครื่องทุ่นแรงด้วยเครื่องมือเครื่องไม้อันหยาบ ๆ เท่าที่มนุษย์สามารถค้นคิดมาได้เท่านั้น มิใช่ดั่งปัจจุบันซึ่งมีทั้งเครื่องจักรเครื่องทุ่นแรงอันทันสมัย การทำงานนั้นจึงสุดแสนยากลำบาก อีกทั้งต้องขึ้นเขาปีนขึ้นปีนลงบนทำแลอันคับขัน โดยการขนอิฐหินดินทราบและศิลาขึ้นไปก่อกองทับถมเป็นตัวกำแพงเมือง ซึ่งต้องกินแรงงานและใช้คนงานจำนวนเหลือนับคณา อีกทั้งคนงานเหล่านี้จำต้องทนผ่านร้อนผ่านหนาว บางแห่งก็เต็มไปด้วยเมฆฝนหรือพายุหิมะอันหนาวเหน็บ หากคิดคำนวณกันอย่างคร่าว ๆ ว่าการสร้างกำแพงนั้นมีความสูง 2 เมตร และกว้าง 1 เมตร จักสามารถล้อมรอบโลกได้รอบกว่า ๆ หากตัวกำแพงสูง 1 จ้าน 5 ฟุตจีน (ประมาณเกือบ 10 เมตร) และกว้าง 1 ฟุตจีน ก็จักสามารถล้อมรอบโลกได้ 3 - 4 รอบ กำแพงเมืองจีนที่สร้างในสมัยราชวงศ์ ฉิน นั้น ปัจจุบันยังมีบางส่วนปรากฏให้เห็น ดั่งที่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมือง ต้าถง 10 ลี้ ในมณฑล ซานซี มีปรากฏร่องรอยของตัวกำแพงเป็นดินสีม่วงคล้ำ ผู้คนต่างเรียกว่า จี้ไส้ (จีสัก..ดินอุดตันสีม่วง) กล่าวกันว่าเป็นฝีมือการก่อสร้างของราชวงศ์ ฉิน ที่ทางทิศตะวันตกของเมือง หมินเสี้ยน (มิ่งกุ่ย), เมืองไคเฉินเสี้ยน (ไคเซี่ยกุ่ย), และเมือง ฮว่ายเสี้ยน (ฮว่ายกุ่ย), ในมณฑล กันซู ทั้งแถบ ต่างก็มีปรากฏร่องรอยกำแพงเมืองของราชวงศ์ ฉิน กำแพงเมืองจีนได้ผ่านร้อนผ่านหนาว ทั้งลมแดดพายุและหิมะมาเป็นเวลาหลายพันปี จึ่งย่อมต้องมีการสึกหรอไปบ้างเป็นธรรมดา จึ่งต้องมีการสร้างซ่อมขึ้นมาใหม่ ซึ่งในยุคสมัยต่อมาในยุคราชวงศ์เหนือ - ใต้ ราชวงศ์ เป่ยเว่ย (ปักงุ่ย), ราชวงศ์ เป่ยเจ่ (ปักเจ๋), ราชวงศ์เป่ยโจว (ปักจิว), รวมทั้งราชวงศ์ สุย (ซุ้ย), ต่างก็ได้ผ่านการซ่อมสร้างกำแพงเมืองจีนมาแล้ว ด้วยความมุ่งหมายการป้องกันประเทศเช่นเดียวกับราชวงศ์ ฉิน เมื่อราชวงศ์ หมิน ขับไล่ชนชาติ มงโกล ออกไปได้ จึ่งเห็นความสำคัญของกำแพงเมืองจีน เพราะว่าขณะนั้น เหล่าชนเผ่านอกเขตแดน จงหยวน มักรุกรานเข้ามาเสมอ ๆ ราชวงศ์ หมิน ได้ซ่อมสร้างกำแพงเมืองจีนถึง 3 ครั้ง 3 หน จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2043 การซ่อมสร้างกำแพงเมืองจีนโดยราชวงศ์ หมิน ก็สำเร็จลุล่วงด้วยดี กินบริเวณขอบเขตทางทิศตะวันตกตั้งแต่เมืองหน้าด่าน เจียยู่กวน (เกียหยูกวง) ทางทิศตะวันออกไปถีงจรดทะเลที่ด่าน ซานไห่กวน (ซัวไห่กวง) ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านมณฑล หนิงเซี่ย (เล่งแห่), ซ่านซี (เฮียบไซ), เน่ยม่งกู่ (ไหล่โมวโก้ว..มงโกเรียใน), และ ซานซ๊ (ซัวไซ), ฯ ล ฯ มันถูกสร้างอยู่ตามที่ราบและเนินเขาขึ้น ๆ ลง ๆ มีความยาวคร่าว ๆ ประมาณ 6,300 กิโลเมตร ตัวกำแพงเมืองนั้นทางด้านเหนือถูกสร้างอย่ามั่นคงเข็งแรง กำแพงเมืองทั้งด้านนอกและด้านในถูกเรียกว่ากำแพงหมื่นลี้ เป็นการแสดงถึงความมีสติปัญญาของคนจีน และเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์อันยาวนานของคนจีน เมื่อกล่าถึงกำแพงเมืองจีน มักมีนิยายปรำประรากล่าวถึงการร้องไห้กำแพงเมืองจีนของนาง เมิ่นเจียนหนี (เม่งเกียงนึ่ง) ตามตำนานกล่าวว่า มีชายคนหนึ่งชื่อ ม่านจี้เหนียน (ม่างกี่เนี่ย) แต่งงานได้มินาน ก็ถูกพระเจ้า ฉินซีฮ่องเต้ เกณฑ์ไปสร้างกำแพงเมืองจีน ภรรยาของเขา เมิ่นเจียนหนี ได้ติดตามไปส่งเขาส่งเสื้อผ้ากันหนาวข้ามภูเขาข้ามน้ำข้ามทะเลไปหลายพันลูก และเมื่อนางได้ข่าวว่าสามีของนางได้ถึงแก่กรรม ณ กำแพงหมื่นลี้ นางได้ร้องห่มร้องไห้ ณ กำแพงหมื่นลี้ 3 วัน 3 คืน เป็นที่สะท้านภพแก่เทพยดาและผีสางนางไม้ทั้งปวง นางได้ร้องไห้จนกระทั่งกำแพงหมื่นลี้พังลงมายาวถึง 40 ลี้ (20 กม.) ตามตำนานนี้ เหล่าประชาราษฎร์โจษท์ขานกันว่า พระเจ้า ฉินซีฮ่องเต้ ทรงไร้น้ำใจ มองมิเห็นควาามทุกข์ยากของเหล่าประชาชี แต่ก็มีผู้รู้บางท่านสันนิษฐานว่า ตำนานเรื่องนี้มาจากพงศาวดารเรื่อง ฉู่ต้วน (ฉ่อต่วง) ได้มีนายทหาร จี้เหนียน (กี่เนี่ย) ของเมืองรัฐ เจ้ (เจ่) ออกรบจนตัวตาย ลูกเมืยของเขาได้ร้องห่มร้องไห้ ตำนานนิยายเรื่องนี้ เมื่อก่อนหน้ายุคสมัยของพระเจ้า ฉินซีฮ่องเต้ 300 กว่าปี เป็นเรื่องราวที่มิเคยปรากฏในราชวงศ์ ฉิน

..



..
เมื่อกล่าถึงประวัติการสร้างกำแพงเมืองจีน ก็อดที่จักกล่าวถึงพระเจ้า ฉินซีฮ่องเต้ มิได้
ภาคผนวก ชีวประวัติของพระเจ้า ฉินซีฮ่องเต้ พระเจ้า ฉินซีฮ่องเต้ เป็นบุคคลสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์จีน เมื่อ พ.ศ. 323 พระองค์ทรงรวบรวมประเทศจีนเป็นเอกภาพ ยุติการแก่งแย่งชิงอำนาจกันของเหล่าบรรดาเมืองรัฐต่าง ๆ ในยุคสมัย ชุนชิว จ้านกวอ (ชุงชิว เจี้ยงกก..ฤดูใบไม้ผลิและฤดุใบไม้ร่วง ยุคสงคราม หรือ เลียดก๊ก) ทรงรวบรวมอำนาจการปกครองมาสู่ส่วนกลางในยุคศักดินา พระองค์ทรงนำความเจริญมาสู่ชนชาติจีนในประวัติศาสตร์อันยาวนานแต่ละขั้นตอน     พระเจ้า ฉินซีฮ่องเต้ ทรงพระนามว่า ยินเจิ้น (เอี่ยเจ่ง) เหตุเพราะพระองค์ทรงประสูติ ณ เมืองรัฐ จ้าว (เตียว) จึ่งมีอีกพระนามหนึ่งว่า จ้าวเจิ้น (เตียวเจ่ง)    เมื่อ พ.ศ. 297 พระองค์ในพระวัย 13 พรรษา ทรงขึ้นครองราชย์เป็นเจ้า ฉินหวาง ขณะนั้นอุปราช ลวี่ปุ๊เหวย (ลี่ปุกอุ้ย) และขันที เหลียวไอ่ (เลี่ยวไอ่) ครอบครองอำนาจในพระราชสำนักอย่างมิเป็นธรรม และเมื่อพระเจ้า ยินเจิ้น ทรงมีอายุครบ 22 ปี ตามธรรมเนียมพิธีการปกครองของพระราชสำนัก ฉิน พระองค์ทรงสำเร็จราชการมีอำนาจเต็ม อุปราช ลวี่ปุ๊เหว่ย ก็หลอกใช้ เลียวไอ่ คิดโค่นล้มปฏิวัติ เจ้า ฉินหวางยินเจิ้น ฉินหวางยินเจิ้น ทรงจัดการโค่นล้มการปฏิวัติเสียแต่ต้นลม ทรงประหารขันที เหลียวไอ่ ลวี่ปุ๊เหว่ย ถูกถอดออกจากตำแหน่งอุปราช ภายหลัง ลวี่ปุ๊เหว่ย ฆ่าตัวตาย เจ้า ฉินหวางยินเจิ้น ทรงใช้ขุนนาง หลี่ซือ, เว่ยเลี่ยว, เป็นกุนซือดำเนินนโยบาย เลี้ยงไกลพิชิตใกล้ทรงใช้เวลาทำสงครามประมาณ 10 ปี จึ่งทรงรวบรวมเมืองรัฐ หาน, จ้าว, เยี่ยน, เว่ย, ฉุ่, และ เจ้, มาอยู่ในผังอาณาจักรของพระองค์ได้สำเร็จ     เมื่อ พ.ศ. 323 เมืองรัฐ ฉิน สามารถรวบรวมเมืองรัฐทั้งหลายในยุค จ้านกว๋อ ได้หนึ่งเดียวเป็นเอกเทศ ประเทศ ฉิน สามารถแผ่ขยายอำนาจไปถึงดินแดนทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ยึดได้ดินแดนตะวันออกเฉียงใต้ 2 มณฑล 2 กว่าน เริ่มรวบรวมชนเผ่าต่าง ๆ ซึ่งกระจัดกระจายมากลายเป็นชนชาติ ฮั่น ในชั้นหลัง     เจ้า ฉินหวางยินเจิ้น ทรงต้องการแยกแยะความยิ่งใหญ่อันเกรียงไกรของพระองค์ จึ่งทรงยกคำว่า หวาง (อ๊วง..แปลว่าเจ้า) และคำว่า ตี้ (ตี่..กษัตริย์) รวบรวมเป็นคำเดียวกัน เรียกว่า หวางตี้ (อ่วงตี่) ซึ่งก็คือคำว่า ฮ่องเต้ ซึ่งคนไทยเชื้อสาย ฮกเกี้ยน ได้แปลจากเรื่อง สามก๊ก จนเกิดเป็นคำมรดกวัฒนธรรมของคนไทยตกทอดมาตราบเท่าทุกวันนี้ เขาได้ฝันใฝ่ว่า ลูกหลานเหลนโหลนของพระองค์ต่อ ๆ มาเป็นหมื่น ๆ ชั่วโคตรจักสามารถสืบทอดตำแหน่งและการปกครองของพระองค์ได้ พระองค์จึ่งทรงสถาปนาพระองค์เองว่า ซี่หวางตี้ (สี่อ่วงตี่..แปลว่า ฮ่องเต้ พระองค์แรก) แต่ทำไมนักประวัติศาสตร์สันชาติตะวันตก จึ่งใช้คำว่าจักรพรรดิมาตั้งแทนสรรพนามของ ฮ่องเต้ จีนแต่ละพระองค์ ทั้ง ๆ ที่ในประวัติศาสตร์ของจีนมิได้ใช้คำว่าจักรพรรดิมาเรียกเป็นสรรพนามของ ฮ่องเต้ นอกจากคนจีนรุ่นใหม่หรือคนต่างชาติที่มิรู้เรื่องได้ใช้คำว่าจักรพรรดิมาเรียก ฮ่องเต้ ของตนอย่างมิข่วยเขินอาย คำว่า ฮ่องเต้ เป็นสรรพนามของผู้นำสูงสุดในการปกครองระบบศักดินา คนจีนเรียกกษัตริย์ต่าง ๆ ของแต่ละประเทศที่มาทำสัมพันธ์ไมตรีว่า หวาง (อ๊วง..อ๋อง) ทั้งนั้น เพราะไม่มีกษัตริย์ใดยิ่งใหญ่ไปกว่า ฮ่องเต้ ของจีน ดั่งนั้น ฮ่องเต้ จึงเป็นตำแหน่งผู้นำสูงสุดของจีน ทั้งด้านระบบการเมือง การเศรษฐกิจ การควบคุมอำนาจทางทหาร คำสั่งหรือพระราชโองการของพระองค์ทรงใช้คำว่า เจ้า (เจียว) หรือ จื้อ (จี่) เพื่อทรงครอบคลุมอำนาจของพระองค์ทั่วทั้งประเทศ และเหล่าบรรดาผู้นำต่าง ๆ ของจีนยุคต่อ ๆ กันมา ก็ทรงใช้คำว่า ฮ่องเต้ เรียกตามสรรพนามเช่นเดียวกับพระองค์ ถือว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดต่อ ๆ กันมาชั่วลูกชั่วหลาน ผู้ที่มีอำนาจสืบทอดต่อมาจาก ฮ่องเต้ เรียกว่าซานกงจิ่วคิน (ซำกงกิ่วเคง) เป็นระบบการปกครองควบคุมอำนาจสู่ส่วนกลาง ซานกง หรือ สามก๋ง ก็คือผู้นำของเหล่าบรรดาขุนนางทั้งปวง ตำแหน่ง เฉินเซี่ยน (เซ่งเสี่ยง) คือผู้นำทางฝ่ายพลเรือน ตำแหน่ง ไท่เว่ย (ไท้เอว่ย) คือผู้นำทางฝ่ายทหาร ส่วนตำแหน่ง จิ่วคิน (กิวเค็ง) เป็นผู้นำทำพิธีการเซ่นไหว้ในศาลเจ้าบรรพชน ขุนนางที่มีหน้าที่เป็นองค์รักษ์ เฝ้าประตูพระราชวังต่าง ๆ เรียกว่า หลานจงหลิน (นึ่งตงเหล็ง) ขุนนางที่มีหน้าที่ควบคุมคุกราชทัณฑ์เรียกว่า ถินเว่ย (เท่งเอว่ย) ขุนนางที่มีหน้าที่ควบคุมการคลังเรียกว่า ตี้มี่เน่ยไส้ (ตี้บี้ไหล่ไส่) ขุนนางที่มีหน้าที่ติดต่อกับทางด้านต่างประเทศเรียกว่า เตี้ยนเค่อ (เตี้ยงเขะ) ขุนนางที่มีหน้าที่จัดการควบคุมพระราชวังเรียกว่า จงเจิ้น (จงเจี่ย) ขุนนางที่มีหน้าที่ควบคุมเหล่าองค์รักษ์ดูแลประตูหอรบเรียกว่า เว่ยเว่ย (เอว่ยเอว่ย) ขุนนางที่มีหน้าที่ควบคุมเกี่ยวกับโรงม้าราชรถเรียกว่า ไท่ผู่ (ไท้ผก) และขุนนางที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการดูแลธรรมชาติและการฝีมือของประเทศเรียกว่า เส้าหู่ (เสี่ยวฮู่) ขุนนางเหล่านี้รวมตัวกันเรียกว่า ซานกงจิ่วคิน ต่างคนต่างทำหน้าที่แตกต่างกันไป แต่มีอำนาจเหนือเหล่าประชาราษฎร ตั้งแต่เบื้องบนสุดถึงต่ำสุด การแบ่งแยกดินแดนการปกครองของราชวงศ์ ฉิน โดยการแต่งตั้งเจ้าเมืองขึ้นต่าง ๆ ร่วมกันปกครอง เมือเริ่มแรกนั้นแบ่งเขตแดนเป็น 36 หัวเมืองขึ้น เรียกว่า กุน (กุ๋ง) แต่ครั้นถึงปลายราชวงศ์ ฉิน มีถึง 40 กว่า กุนแต่ละ กุน มีเจ้าเมืองปกครอง มีอำนาจการปกครอง ส่วนอำนาจทางฝ่ายทหารนั้นมีนายทัพ เว่ย (เอว่ย) เป็นผู้ดูแลปกครอง และยังทรงแต่งตั้งขุนนางในตำแหน่ง กั่นอู้ไส้ (ก้ำง่อไส่) ดูแลการราชทัณฑ์และประเพณีการเซ่นไหว้ ใน กุน หนึ่งนั้นยังแบ่งแยกย่อยออกเป็น เสี้ยน (กุ่ย) เสี้ยนใหญ่สามรถออกคำสั่งแก่ เสี้ยนเล็ก เสี้ยน เล็กก็ดำเนินตามคำสั่งของ เสี้ยนใหญ่ ผู้มีอำนาจควบคุม เสี้ยน ทั้งหลาย ก็มีอำนาจควบคุมกองทัพกองทหารด้วย เสี้ยนเซี่ย (กุยเซี่ยง) หรือ เสี้ยนหลิน (กุ่ยเหล็ง) หรือ เสี้ยนฉาน (กุ่ยเจี้ยง) ดำเนินการปกครองตามนโยบายทางการเมือง ขุนนางผู้มีอำนาจเหนือกว่า เสี้ยน ต่างอบรมบัญชาการแก่เหล่า เสี้ยน ตามพระราชโองการที่ได้รับมอบหมายมา จากตำแหนง เสี้ยน ก็มีผู้ปกครองลดหลั่นลงไปเรียกว่า เซียน (เฮีย), ถิน (เต๊ง), และ หลี่จี (หลี่กี), แต่ละ เซียน ก็มีผู้เฒ่าทั้งสาม อบรมสอนสั่งเหล่าชาวบ้านประชาชนให้เข้าใจในระเบียบพิธีกรรมต่าง ๆ และยังรับหน้าที่เป็นตุลาการผู้พิพากษา ตามเก็บภาษีที่ทางต่าง ๆ และให้ความอยู่เย็นเป็นสุขแก่เหล่าราษฎรทั่ว ๆ ไป จาก เซียน ลงไปก็คือ ถิน (เต๊ง), แต่ละ ถิน ก็มีเจ้า ถิน ดำเนินการปกครองและเหล่าผู้ท่องเที่ยวไปมา และดูแลความสงบสุขเรียบร้อยของประชาชน จาก ถิน ลงมาก็คือ หลี่ (ลี้) หลี่เป็นตำแหน่งขุนนางที่เล็กที่สุด แต่ก็ยังมีแบ่งแยกซอยลงไปอีก 10 ครัวเรือนเรียกว่า เสิ่ม (ซิ่ม), 5 ครัวเรือนเรียกว่า อู่ (โง่ว), ทั้ง เสิ่ม และ อู่ ต่างก็มีผู้นำเรียกว่าเจ้า เสิ่ม และเจ้า อู่ หากว่ามีครัวเรือนใดมีโทษความผิดมิกระจ่าง เจ้า เสิ่ม และ เจ้า อู่ ต้องร่วมฟังความพิจารณาโทษด้วย ด้วยระบบการปกครองเช่นนี้ ตั้งแต่อำนาจรัฐบาลกลาง จนกระทั่งถึงอำนาจเบื้องปลาย เปรียบดั่ง ปิรามิด ส่งต่อลงไปเป็นทอด ๆ ซึ่งสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ประเทศจีนอย่างยิ่งในระบบการปกครองแบบศักดินา ซึ่งหลักการปกครองเช่นนี้ ในชั้นหลังของราชวงศ์ต่าง ๆ ต่างเอาแบบเป็นเยี่ยงอย่าง